วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

คุณธรรม จริยธรรม และ ความเป็นไทย
    Decency = คุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย คือ รู้ผิดชอบชั่วดี มีวิถิปฎิบัติตนอยู่ในกรอบขนบธรรมเนียมประเพณี เคารพกฎหมาย ไม่ทำผิด มีจิตสาธารณะ จิตอาสา ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนและรักในความเป็นไทย สืบสานเอกลักษณ์ไทยให้อยู่ตลอดไป   ซึ่ง Decency หรือ คุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย สามารถแยกออกและแปลความหมายได้ดังต่อไปนี้

ความหมายของคุณธรรม  
   พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถาน (2530:190)ได้ให้ความหมายของ คุณธรรมว่า คุณธรรม หมายถึง สภาพคุณงามความดีหรือหน้าที่อันพึงมีอยู่ในตัว 
          ลิขิต  ธีรเวคิน ( 2548 ) ได้กล่าวไว้ว่า  คุณธรรม คือ จิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล ศาสนาและอุดมการณ์  เป็นดวงวิญญาณของปัจเจกบุคคลและสังคมด้วย  ปัจเจกบุคคลต้องมีวิญญาณสังคมต้องมีจิตวิญญาณ คุณธรรมของปัจเจกบุคคลอยู่ที่การกล่อมเกลาเรียนรู้โดยพ่อแม่  สถาบันการศึกษา  ศาสนา  พรรคการเมืองและองค์กรของรัฐ
          รองศาสตราจารย์  ดร. ทิศนา  แขมมณี  ( 2546  : 4 ) ได้ให้ความหมายไว้ว่า คุณธรรมหมายถึง คุณลักษณะหรือสภาวะภายในจิตใจของมนุษย์ที่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ดีงาม ซึ่งเป็นภาวะนามธรรมอยู่ในจิตใจ
          สัญญา สัญญาวิวัฒน์  ( 2527  :  387 )  ได้ให้ความหมายว่า คุณธรรม หมายถึง ความดีความงาม ความซื่อสัตย์ ความพอดี ความอดทน ขยันหมั่นเพียร
          จากความหมายของคุณธรรมที่กล่าวมาพอสรุปได้ว่า คุณธรรม หมายถึง หลักของความดีความงาม ความถูกต้อง ซึ่งจะแสดงออกมาโดยการกระทำ  ทางกาย   วาจาและจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นหลักประจำใจในการประพฤติปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัยเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองผู้อื่น และสังคม

ความหมายของจริยธรรม 
    มีผู้ให้ความของคำว่า “จริยธรรม” ไว้ดังต่อไปนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2546) ให้ความหมายของ “จริยธรรม ” ไว้ว่า หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ 
    พระมหาอดิศร ถิรสีโล (2540) ได้ให้ความหมายของจริยธรรมไว้ว่า หมายถึง คุณธรรมที่แสดงออกทางร่างกายในลักษณะที่ดีงามอันเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของสังคมจริยธรรม จะมีได้ต้องปลูกฝึกหัดโดยเริ่มจากการปลูกฝังคุณธรรม
          พระธรรมญาณมุนี (2531:103) ได้ให้ความหมายของจริยธรรมไว้ว่า จริยธรรม หมายถึง พฤติกรรมที่เป็นรูปแบบของการปฏิบัติตน การดำเนินตนที่มีความเหมาะสมแก่ ภาวะ ฐานะ กาลเทศะ และเหตุการณ์ในปัจจุบัน
          จากความหมายดังกล่าวมาพอสรุปได้ว่า จริยธรรม หมายถึง พฤติกรรมในการประพฤติ ปฏิบัติตนในสิ่งที่ควรปฏิบัติที่ดีงามเหมาะสม และเป็นที่นิยมชมชอบหรือยอมรับของสังคมเพื่อความสันติสุข แห่งตนเอง และความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม

สรุป คือ คุณธรรม หมายถึง คุณสมบัติภายในใจใดๆ ก็ตามที่เป็นคุณสมบัติไม่เป็นโทษ  ส่วน จริยธรรม หมายถึง สิ่งควรประพฤติอัน ได้แก่ พฤติกรรมเป็นการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ อันดีงามที่ควรปฏิบัติ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คุณธรรม และจริยธรรม  หมายถึง คุณงามความดีของบุคคลที่กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยได้ยึดถือจนเป็นความเคยชิน อันเป็นคุณลักษณะหรือพฤติกรรมที่ดีงาม เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องของตนเอง ผู้อื่นและสังคม
ความเป็นไทย 
      
บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้าน ป้องเมือง คุ้มเหย้า เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป”การรักษาความเป็นไทย จึงเป็นหน้าที่ของเราลูกหลานไทยทุกคนความเป็นไทยและไทยแท้ ๆ นั้นเป็นอย่างไรความเป็นไทย ก็คือความเป็นอิสระ ไม่เป็นทาสเขา มีสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยเฉกเช่นผู้คนในโลกยุคปัจจุบันนี่คือความเป็นไทยเพียงภายนอกธรรมดาเท่านั้น ยังมิใช่ไทยแท้ ๆ ความเป็นไทยแท้ ๆ นั้น ต้องเป็นอิสระทั้งกายและใจ ทางกาย ก็ไม่เป็นทาสรับใช้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นใด เพื่อมาทำลายชาติไทยของเราไม่เป็นทาสยาเสพติดซึ่งบั่นทอนชีวิตตนและคนอื่นให้ตายทั้งเป็นไปพร้อมกันด้วย ทางใจ นั้นต้องไม่เป็นทาสกิเลสหรืออารมณ์ฝ่ายต่ำอันจักนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนภายในจิตใจตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมเลวร้ายจากตนเองสู่ผู้อื่น และลุกลามสู่สังคมต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดความเป็นไทยแท้ ๆ นั้น ต้องเป็นอิสระทั้งกายและใจแต่จักเป็นได้อย่างไร ถ้าคนไทยไม่เข้มแข็ง ความเข้มแข็งภายนอกต้องมีความรักสามัคคี ความเข้มแข็งภายใน ต้องมีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ฝ่ายต่ำ เพียรพยายามกำหนดรู้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันให้เห็นความเป็นจริงของสรรพสิ่ง ที่ปรากฏอันจักนำไปสู่การแยกแยะสิ่งดี-ชั่วออกจากกัน เกิดความเข้มแข็งภายในสามารถ ลด ละ กิเลสหรืออารมณ์ฝ่ายต่ำได้หมดสิ้นเข้าสู่ความเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ สู่ความเป็นไทยแท้ ๆ
กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย
1) กิจกรรมพัฒนาคุณธรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา วัด ศาสนสถาน และ
ชุมชน เช่น ส่งเสริมครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมจิตอาสา ค่ายพุทธบุตร พุทธธรรม ค่ายคุณธรรมจริยธรรม จัดให้สถานศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา
2) กิจกรรมที่ส่งเสริมการนิยมไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือความภูมิใจในความเป็นไทย
3) มีการบริหารจัดการสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความสำคัญของจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม  
    
มนุษย์นับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีความสำคัญมากที่สุดในโลก เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สามารถเรียนรู้และรับการฝึกอบรมสั่งสอน  จนสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อโลกได้  ในการเรียนรู้และการฝึกอบรมเพื่อสะสมประสบการณ์ชีวิต  มนุษย์ควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมไปด้วยพร้อม ๆ กัน  เพราะคุณธรรมจริยธรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นอย่างมาก  อาจสรุปความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมได้ดังนี้ คือ 
1. ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสงบสุข  ไม่พบอุปสรรค
2. ช่วยให้คนเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา  ไม่เผลอตัว  ไม่ลืมตัว จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดก็จะระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
3. ช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้แก่บุคคลในชาติ

4. ช่วยควบคุมไม่ให้คนชั่วมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น  นับว่าเป็นคุณแก่สังคม  เพราะนอกจากจะเป็นตัวอย่างโดยการชี้นำทางอ้อมแล้ว  ยังจะออกปากแนะนำสั่งสอนโดยตรงได้อีกด้วย
5. ช่วยให้มนุษย์นำความรู้และประสบการณ์ ที่ร่ำเรียนมาสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า
6. ช่วยควบคุมการเจริญทางด้านวัตถุและจิตใจของคนให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน
7. ช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้มนุษย์
        ความสำคัญของคุณธรรม และจริยธรรมที่กล่าวมานี้  ประเด็นที่สำคัญก็คือ  สามารถลดปัญหา และขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล  สังคม และประเทศชาติได้ เมื่อทุกคนประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว อุปสรรค ศัตรู ภัยอันทราย ก็จะหมดสิ้นไป ผู้คนมีแต่ความรักต่อกัน  สังคมมีแต่ความสงบ และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น